ที่อยู่อาศัยของชาวมอแกนในหมู่เกาะสุรินทร์จังหวัดพังงา : จากวิถีชีวิตเร่ร่อนมาสู่การตั้งถิ่นฐานถาวร

อัมพิกา อำลอย, ชินศักดิ์ ตัณฑิกุล, วีระ อินพันทัง

Abstract


“ชาวมอแกน” เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตเร่ร่อนมาสู่การตั้งถิ่นฐานถาวร ทำให้เกิดคำถามว่า “ลักษณะที่อยู่อาศัยของชาวมอแกนจากวิถีชีวิตเร่ร่อนมาสู่การตั้งถิ่นฐานถาวรเป็นอย่างไร?” คำถามนี้นำไปสู่วัตถุประสงค์ของการวิจัยในการค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะการตั้งถิ่นฐานและการก่อรูปที่อยู่อาศัยของชาวมอแกน

งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยภาคสนาม โดยเลือกทำการวิจัยในชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถธำรงวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (purpose sampling) โดยการกำหนดคุณลักษณะขึ้นเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการคัดเลือก

ผลการวิจัยค้นพบว่า ในอดีตชาวมอแกนมีวิถีชีวิตเร่ร่อนทางทะเล จัดอยู่ในกลุ่มสังคมหาของป่า-ล่าสัตว์มีการตั้งถิ่นฐานแบบชั่วคราวในช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ชาวมอแกนจะหยุดเร่ร่อน โดยจอดเรือและรวมกลุ่มกันสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวบริเวณชายหาด ที่อยู่อาศัยชั่วคราวของชาวมอแกนทำขึ้นอย่างง่ายๆ ซึ่งสอดคล้องกับการตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บริเวณใดบริเวณหนึ่งในช่วงเวลาสั้นๆ ในเวลาต่อมาชาวมอแกนเริ่มตั้งถิ่นฐานในระยะเวลายาวนานขึ้น ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอกมากขึ้น มีการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจและสังคมเข้าด้วยกัน ทำให้ระบบสังคมมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ชุมชนเกิดการขยายตัว ส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวมอแกนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยจากเรือมาสู่เพิงพัก กระท่อม และเรือนตามลำดับ ในระยะแรกยังคงเป็นการปลูกสร้างอย่างง่ายๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้สอยในการดำเนินชีวิต ภายหลังมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับการอยู่อาศัยที่ยาวนานมากขึ้น เห็นได้จากโครงสร้างมีความแข็งแรงรูปแบบและการจัดวางพื้นที่ใช้สอยมีความหลากหลาย

Full Text:

Untitled

Refbacks

  • There are currently no refbacks.